ประวัติการผลิตซีอิ๊วในประเทศไทย

บรรพบุรุษต้นตระกูลของ "ต้ากี่ 1950" จากประเทศจีน มณฑลกวางตุ้ง


ที่มาของซีอิ๊ว เครื่องปรุงรสสำคัญของอาหารจีน


" มารู้จักสี่เหย่า " สี่เหย่าฉองคือโรงซีอิ๊วนั่นเอง เสียงเรียก "ซีอิ๊ว" เป็นสำเนียงจีนแต้จิ๋ว
คนไทยนำมาเรียกว่า "ซี่อิ๊ว" ส่วนคนกวางตุ้งเราเรียกว่า "สี่เหย่า"

คำว่า "สี่" มาจาก "เต่าสี่" ที่หมายถึงเมล็ดถั่วเหลือง 
และ "เหย่า" คือน้ำมันหรือหัวน้ำเชื้อที่สกัดได้จากพืชผลและเมล็ดพืชต่างๆ
ดังนั้นสี่เหย่าจึงแปลว่า หัวน้ำเชื้อที่ได้จากถั่วเหลือง ซึ่งก็คือซอสปรุงรสชนิดหนึ่งนั่นเอง

"ซีอิ๊วเป็นอาหารที่ชาวจีนคิดค้นผลิตขึ้นมากว่า 3,000 ปีแล้ว แรกเริ่มใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบ
เพียงอย่างเดียว ต่อมาจึงค้นพบวิธีเอาข้าวสาลีเข้าผสมด้วยในขั้นตอนการหมัก

 

ซีอิ๊วก็เช่นเดียวกับอาหาร และ เครื่องดื่มหลายชนิดที่ได้รับการค้นพบและค้นคว้าพัฒนาโดยพระสงฆ์
จากนั้น กรรมวิธีการผลิตซีอิ๊วได้แพร่หลายไปยังญี่ปุ่น และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จนในที่สุดกลายมาเป็นเครื่องปรุงรสประจำวันที่จะขาดเสียมิได้เลย

และ ซีอิ๊วได้พัฒนารูปแบบไปต่างๆนาๆตามแต่สถานที่ที่ได้เดินทางไปถึง
ที่เห็นชัดเจนคือในประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนาแตกต่างออกไปจากจีนมาก ทั้งรสชาติ
ความข้นใส และการใช้งาน หากแต่พื้นฐานก็มาจากการผลิตของจีนเมื่อ 3,000 กว่าปีมาแล้วนั่นเอง"


"สี่เหย่า" ติดเข้ามากับชาวกวางตุ้งอพยพในกรุงสยามแต่โบราณกาล
เป็นการหมักถั่วด้วยวิธีธรรมชาติเอาไว้กินเองตามบ้าน
จนเมื่อราว 80 ปีที่แล้วนี่เองที่มีการผลิตเพื่อขาย

จากการออกสัมภาษณ์บริษัทผลิตสี่เหย่าหลายแห่งที่มีชื่อเสียงในเมืองไทยขณะนี้
ไม่มีใครชี้ชัดลงไปได้ว่าตนเป็นเจ้าแรก เพราะ การผลิตสินค้าสักอย่างหนึ่งในสมัยก่อนนั้น
ยังไม่มีการไปจดทะเบียนการค้า จึงยืนยันไม่ได้แน่นอนว่าใครมาก่อน

ต่อมาเมื่อการค้าซับซ้อนขึ้น ทางการต้องการให้ไปจดทะเบียนเอาไว้เป็นหลักฐานการเสียภาษี
เพื่อเอาเงินเข้าหลวง
โรงงานสี่เหย่าที่ว่า จึงต้องไปจดทะเบียนให้เรียบร้อย
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงกลายเป็นว่า ผู้ที่ไปจดทะเบียนก่อนก็คือผู้ที่ผลิตก่อน

 

ที่มา : นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538 
ปีที่ 17 ฉบับที่ 206 เดือน เมษายน 2545

เรื่อง :
ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง